หมายศาล
หมายศาล - เมื่อได้รับหมายศาล หลายๆ คนมักจะคิดไว้ก่อนว่า ตนเองถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดี แต่ความจริงแล้ว หมายศาลมีหลายประเภทด้วยกัน ซึ่งหลักๆ โดยทั่วไปจะมีดังนี้ กล่าวคือ
1. หมายเรียก คือ หมายศาลที่ส่งไปพร้อมกับสำเนาคำฟ้อง เพื่อให้ผู้ได้รับหมาย มาแก้ต่างคดี.
2. หมายนัด คือ หมายศาลที่ให้ผู้ได้รับหมาย ไปศาลตามวันเวลาที่กำหนด เช่น หมายนัดไต่สวน.
3. คำสั่งเรียกเอกสาร คือ หมายศาลที่แจ้งคำสั่งเรียกเอกสารในความครอบครองของผู้รับหมาย ไม่ว่าจะอยู่ในความครอบครองของอีกฝ่ายหนึ่ง หรือ ของบุคคลภายนอก หรือของราชการ พนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อคู่ความฝ่ายที่ต้องการใช้เอกสารนั้น จะขอให้ศาลสั่งให้ผู้ครอบครองส่งเอกสารนั้นให้แก่ศาล โดยอาจส่งด้วยตนเองหรือส่งทางไปรษณีย์ก็ได้
4. หมายเรียกพยานบุคคล คือ บุคคลที่จะไปเป็นพยานศาล พยานบุคคลนั้นมีอยู่ 2 ประเภท คือ พยานนำ และ พยานหมาย
4.1 พยานนำ คือ พยานที่คู่ความติดต่อให้ไปเบิกความโดยที่พยานนำ จะยินดีไปศาลด้วยความสมัครใจ
4.2 พยานหมาย คือ พยานที่คู่ความไม่สามารถติดต่อ หรือ นำไปเบิกความเองได้ จึงต้องให้ศาลออกหมายเรียกพยานดังกล่าวให้มาเบิกความ
เมื่อได้รับหมายศาลควรปฎิบัติอย่างไร?
1. ตรวจสอบดูว่า เป็นหมายของศาลไหน ตั้งอยู่ที่ไหน หมายแจ้งให้เราไปทำอะไร ในวันเวลาใด หากไม่เข้าใจ หรือมข้อสงสัย สามารถโทรศัพท์สอบถามไปยังศาลที่ส่งหมายมา ซึ่งที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อ จะอยู่ทางด้านล่างของหมาย
2. ไปศาลให้ตรงกับวันและเวลาที่ศาลนัด หากว่าไม่สามารถจะไปศาลตามวันเวลาที่ศาลกำหนดในหมายได้ ต้องแจ้งให้ศาลทราบก่อนวันนัด โดยสามารถโทรศัพท์สอบถามเจ้าหน้าที่ตามหมายเลขโทรศัพท์ที่อยู่ด้านล่างของหมาย การขัดขืนไม่ไปศาลตามวันนัด อาจถูกศาลออกหมายจับ เพื่อเอาตัวกักขังไว้จนกว่าจะเบิกความ และพฤติกรรมดังกล่าวยังถือว่า มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตา 170 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. เมื่อไปถึงศาลแล้ว หาห้องพิจารณาคดี และรอการเบิกความ โดยสามารถตรวจดูจากบอร์ดวันนัดพิจารณาคดี หรือ สอบถามจากเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ แล้วไปนั่งรอที่หน้าห้องพิจารณาคดี โดยแจ้งให้คู่ความที่อ้างพยาน หรือเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ทราบว่าเรามาถึงศาลแล้ว
4. ก่อนจะเบิกความ จะต้องปฎิญาณตนหรือสาบานตนตามลัทธิศาสนาของตน หากขัดขืนคำสั่งศาล ที่ให้สาบานหรือปฎิญาณตน ให้ถ้อยคำหรือคำเบิกความ จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 171 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้เว้นแต่
4.1 บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี หรือหย่อนความรู้สึกผิดชอบ
4.2 ภิกษุและสามเณรในพระพุทธศาสนา
4.3 บุคคลที่คู่ความทั้งสองตกลงกันว่าไม่ต้องปฎิญาณหรือสาบานตน
5. การเบิกความ ต้องเบิกความตามที่ตนได้รู้ ได้เห็น หรือได้ยินมา โดยวิธีตอบคำถามของศาลหรือคู่ความ ห้ามอ่านข้อความที่จดหรือเขียนมา เว้นแต่จะได้ัรับอนุญาตจากศาลหรือเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น การเบิกความเท็จ มีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตา 177 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ค่าตอบแทนการเป็นพยาน
ในกรณีที่พยานมีที่พักอาศัยอยู่ ในเขตจังหวัด ที่มาให้ข้อเท็จจริงยังที่ทำการพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนหรือสอบสวนคดีอาญา พนักงานผู้มีอำนาจฟ้องคดีอาญา หรือศาล จะได้รับค่าตอบแทนครั้งละ 200 บาท
ในกรณีที่พยานมีที่พักอาศัยอยู่ นอกเขตจังหวัด ที่เดินทางมาให้ข้อเท็จจริงยังที่ทำการของพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนหรือสอบสวนคดีอาญา พนักงานผู้มีอำนาจฟ้องคดีอาญา หรือศาล จะได้รับค่าตอบแทนครั้งละ 500 บาท
"สำนักกฎหมายนิติอรรถคดี"